การกำหนดขนาดท่อประปา
การกำหนดขนาดท่อประปา เพื่อจ่ายน้ำจากหอถังสูงส่งไปให้ผู้ใช้น้ำจะต้องมีปริมาณน้ำและแรงดันน้ำที่เหมาะสม ดังนั้น การกำหนดขนาดท่อประปาจะต้องพิจารณาข้อมูลด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.จำนวนผู้ใช้น้ำประปา
2.ปริมาณน้ำและแรงดันน้ำที่จ่ายน้ำให้กับผู้ใช้น้ำประปา
3.ระยะทางการวางท่อน้ำประปา
4.ชนิดและขนาดของท่อประปา
5.สภาพความสูงต่ำของพื้นที่ที่จะวางท่อน้ำประปา
6.การติดตั้งอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับขนาดท่อและระยะทางการวางท่อน้ำประปา
- จำนวนผู้ใช้น้ำประปาให้พิจารณาจากคนที่พักอาศัยภายในบ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านว่ามีคนพักอาศัยอยู่จำนวนเท่าใด หรือพิจารณาจากการกำหนดให้บ้านพักอาศัยหลังหนึ่งจะมีคนพักอยู่ได้หลังละประมาณ 5 คน และในจำนวนคนพักอาศัย 1 คน จะใช้น้ำประมาณ 200 ลิตร/คน/วัน บ้านหลังหนึ่งจะใช้น้ำประปาประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร/ราย/วัน การพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวมาแล้ว เพื่อนำข้อมูลจำนวนบ้านพักอาศัยทั้งหมดไปใช้เปรียบเทียบเป็นปริมาณน้ำทั้งหมดที่จะต้องจ่ายเข้าไปในเส้นท่อให้ผู้ใช้น้ำเป็นจำนวนกี่ลูกบาศก์เมตรต่อวันหรือต่อชั่วโมง
- ปริมาณน้ำและแรงดันน้ำที่จ่ายน้ำให้กับผู้ใช้น้ำ โดยทั่วไปแล้วระบบประปาในแต่ละแห่งจะมีปริมาณน้ำและแรงดันน้ำต้นทางเพียงพอในอนาคตข้างหน้าประมาณ 5-10 ปีแรงดันน้ำต้นทางไม่เกิน 3 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (Kg/cm2) แรงดันน้ำปลายทางไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และความเร็วของน้ำประมาณ 1 เมตรต่อวินาที (m/sec) ปริมาณน้ำประปาให้พิจารณาจากการออกแบบถังตกตะกอนหรือถังกรองน้ำว่ามีกำลังการผลิตน้ำประปามากน้อยเพียงใดหรือมีอัตราการกรองน้ำกี่ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (m3/hr) ส่วนแรงดันน้ำให้พิจารณาจากความสูงของหอถังสูงที่เรียกว่า เครื่องสูบน้ำแรงสูง สามารถสูบน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ส่งน้ำได้สูงกี่เมตร ข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำและแรงดันน้ำต้นทางว่าจะวางท่อประปาขนาดเท่าใดจึงจะเหมาะสม
- ระยะทางการวางท่อน้ำประปา ต้องพิจารณาความยาวของระยะทางที่จะต้องวางท่อน้ำประปาทั้งหมดว่ามีความยาวกี่เมตร เพื่อนำระยะทางที่จะวางท่อน้ำประปาไปพิจารณาการสูญเสียแรงเสียดทานในเส้นท่อ (Head loss) แต่ละขนาดและชนิดของท่อน้ำประปาที่จะใช้โดยเปรียบเทียบจากตาราง Hazen William ว่าระยะทางวางท่อน้ำประปา 1,000 เมตร สูญเสียแรงเสียดทานในเส้นท่อไปกี่เมตร
- ชนิดและขนาดของท่อประปา ที่จะนำมาใช้เป็นท่อน้ำประปามีอยู่หลายชนิด เช่น ท่อเหล็ก อาบสังกะสี (Galvanize Steel Pipe) ท่อพีวีซีแข็งสำหรับใช้เป็นท่อน้ำดื่ม (Polyvinyl Chloride) ท่อพีอี (Polyethylene) หรือท่อพีบี (Polybuthylene) ท่อซีเมนต์ใยหิน (Asbestos Cement)เป็นต้นท่อน้ำประปาแต่ละชนิดมีสภาพผิวท่อหรือความเรียบภายในเส้นท่อไม่เหมือนกันจากตาราง Hazen William กำหนดค่า C ของท่อน้ำประปาแตกต่างกันออกไป
- สภาพความสูงต่ำของพื้นที่ที่จะวางท่อน้ำประปา โดยทั่วไปสภาพพื้นที่ของการวางท่อประปาจะไม่ราบเรียบหรือเป็นแนวเส้นตรงตลอดระยะทางของการวางท่อประปา สภาพพื้นที่ต่างระดับสูงต่ำกว่ากันกี่เมตร ข้อมูลนี้จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับแรงดันน้ำต้นทางและปลายทางของการวางท่อน้ำประปา ตลอดจนจะต้องพิจารณาเรื่องการสูญเสียแรงเสียดทานในเส้นท่อน้ำประปา จากการหักงอของเส้นท่อน้ำประปาที่วางสภาพพื้นที่นั้นด้วย
ที่มา : หนังสือเทคนิคการประปา ของ อ.ประพันธ์ อ่ำสกุล